ประวัติโรงเรียน
ประวัติโรงเรียน
          โรงเรียนชิตใจชื่น  อำเภอบ้านสร้าง  จังหวัดปราจีนบุรี  สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 7  เดิมใช้ชื่อว่า  “โรงเรียนวิสามัญบ้านสร้าง”  ตั้งขึ้นเมื่อวันที่  22  พฤษภาคม  พ.ศ.  2500   โดยมีพระครูพิบูลธรรมประกาศ  (หลวงพ่อกัน)  เจ้าอาวาสวัดบ้านสร้าง   เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้ง  เนื่องจากท่านได้พิจารณาเห็นว่านักเรียนที่เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่  3   ที่โรงเรียนในเขตอำเภอบ้านสร้างแล้ว  ไม่มีสถานศึกษาต่อจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจและฐานะทางผู้ปกครองยากจน ไม่สามารถส่งบุตรหลานของตนเองเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนระดับจังหวัดได้ ด้วยเหตุนี้อำเภอบ้านสร้าง โดยนายชำนาญ  เรืองเผ่าพันธ์ นายอำเภอบ้านสร้าง ในขณะนั้นและ    พระครูพิบูลธรรมประกาศ จึงได้ปรึกษาหารือกันและเสนอเรื่องขอเปิดโรงเรียนมัธยมวิสามัญขึ้น และทางราชการอนุมัติให้เปิดโรงเรียนมัธยมวิสามัญขึ้นขึ้น โดยให้ชื่อว่า “โรงเรียนมัธยมวิสามัญบ้านสร้าง”  จัดการเรียนการสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6  (มัธยมบริบูรณ์) เมื่อ   วันที่  22  พฤษภาคม พ.ศ. 2500 โดยใช้ศาลาการเปรียญวัดบ้านสร้าง เป็นสถานที่เรียน จากนั้นได้สร้างอาคารเรียนถาวรขึ้น 1 หลัง โดยมีผู้ปกครองนักเรียนร่วมสมทบทุนก่อสร้างได้เงินทั้งสิ้น 60,000 บาท (หกหมื่นบาทถ้วน) เปิดเรียนครั้งแรกมีนักเรียน 56 คน  มีนายอนันต์             ชมวงษ์ ครูใหญ่โรงเรียนบ้านสร้าง (ประถมปลาย) รักษาการในตำแหน่งครูใหญ่ มีครู 3 คน นายสุเทพ รื่นกลิ่น,    นายชำนาญ  อารีรอบ, และนายมงคล  สมบูรณ์ทรัพย์ ได้บริหารงานและจัดการเรียนการสอนโดยใช้ระเบียบข้อบังคับของกระทรวงศึกษาธิการตลอดมา
          ต่อมาสถานที่ก่อตั้งโรงเรียนเดิม ซึ่งตั้งอยู่ในที่ดินของวัดบ้านสร้างคับแคบ ไม่มีพื้นที่จะขยายโรงเรียน ไม่สามารถปรับปรุงบริเวณโรงเรียนให้มีพื้นที่มากขึ้นกว่าเดิมได้จะทำให้เกิดปัญหาในการดำเนินการ และ   ปรับปรุงโรงเรียนให้ก้าวหน้าต่อไปในอนาคต ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2506 นายเปล่ง   จุลเนตร นายอำเภอบ้านสร้างในขณะนั้น ได้ติดต่อกับขุนราชการภักดีคหบดีในจังหวัดปราจีนบุรี เพื่อขอรับบริจาคที่ดินปลูกสร้างอาคารเรียน จำนวน 10 ไร่ 1 งาน 93.6 ตารางวา อยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำบางประกง คนละฝั่งกับวัดบ้านสร้าง และโรงเรียนชิตใจชื่นจึงย้ายมาตั้งอยู่ในที่ดินที่ได้รับบริจาค จากขุนราชการภักดี ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงเรียนปัจจุบัน และขอเปลี่ยนชื่อโรงเรียนใหม่เป็น    “โรงเรียนชิตใจชื่น” มีอักษรย่อชื่อโรงเรียนคือ  ช.จ. เพื่อเป็นเกียรติแก่  นางราชการภักดี  (ชิต  ใจชื่น)  ภริยาของขุนราชการภักดีผู้บริจาคที่ดินให้กับโรงเรียน
          ต่อมาในปี พ.ศ.2520 ได้บริจาคที่ดินเพิ่มเติมขึ้นอีก 3 ไร่ 2 งาน 30 ตารางวา จากศาสตราจารย์พลโทประสิทธิ์ ใจชื่น ซึ่งเป็นบุตรของขุนราชการภักดี และนางราชการภักดี  (ชิต ใจชื่น) ทำให้โรงเรียนมีพื้นที่รวม  14 ไร่ -  งาน  23.6  ตารางวา
          ในปี พ.ศ.2520 ทางราชการได้ยุบโรงเรียนบ้านสร้าง (ประถมปลาย) มารวมกับโรงเรียน
ชิตใจชื่น พร้อมทั้งโอนบุคลากรของโรงเรียนมารวมกับโรงเรียนชิตใจชื่น ส่วนที่ดินของโรงเรียนบ้านสร้าง ซึ่งมีพื้นที่ 7 ไร่เศษ ได้โอนกรรมสิทธิ์ให้กับโรงเรียนวัดบ้านสร้าง (ประถมศึกษา) “สรรควิทยากร” สังกัดการประถมศึกษาแห่งชาติ (ส.ป.ช.) ตามหนังสือที่ ศธ. 0806/6081 ลงวันที่ 19 เมษายน พ.ศ.2528 โดยนางสาวจุไร ลียากาศ รองอธิบดีกรมสามัญศึกษา ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสามัญศึกษา
          ในปี พ.ศ. 2551 โรงเรียนชิตใจชื่น โดยการนำของนายสมชาย  ดีชื่น ผู้อำนวยการโรงเรียน ศาสตราจารย์พลโทประสิทธิ์  อาจารย์จิราภา  ใจชื่น บริจาคเงินจำนวน  800,000 บาท ร่วมกับคณะครู    ศิษย์เก่า พ่อค้า ประชาชน และนักเรียนโรงเรียนชิตใจชื่น ได้ซื้อที่ดินเพื่อขยายสนามกีฬาของโรงเรียน เพิ่มขึ้นอีกจำนวน  4  ไร่  3  งาน  80  ตารางวา  เป็นจำนวนเงินประมาณ  2  ล้านบาทเศษ   ปัจจุบันโรงเรียนมีพื้นที่รวม  19 ไร่  -  งาน  3.6  ตารางวา